ไทย      อังกฤษ
 
หัวโขน
ชื่อผลิตภัณฑ์
หัวโขน
รหัสผลิตภัณฑ์
140100234701

ประเภทผลิตภัณฑ์
ศิลปะประดิษฐ์ และ ของที่ระลึก

ชื่อผู้ผลิต
ม.ล.พันธ์สวัสดิ์ ศุขสวัสดิ

ตำบล ท่าวาสุกรี อำเภอ พระนครศรีอยุธยา
จังหวัด พระนครศรีอยุธยา

 
ข้อมูลกลุ่มผู้ผลิต
ชื่อกลุ่มผู้ผลิตชุมชน
    ม.ล.พันธ์สวัสดิ์ ศุขสวัสดิ

จำนวนสมาชิก
    8 คน

ที่อยู่
    5/1 ถ.อู่ทอง ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
โทรศัพท์
    0-3524-1574,0-6510-2195
 

ข้อมูลประธาน/หัวหน้ากลุ่ม
ชื่อประธาน/หัวหน้ากลุ่ม
    ม.ล.พันธ์สวัสดิ์ ศุขสวัสดิ

อายุ
    56 ปี

ที่อยู่
    5/1 ถ.อู่ทอง ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
โทรศัพท์
    0-3524-1574,0-6510-2195
 
 
ข้อมูลผลิตภัณฑ์
ประวัติความเป็นมา
การสร้างหัวโขนของไทยมีมาแต่โบราณ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นพบหลักฐานศีรษะพระครูในคลังศิลปสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์   และศีรษะทศกัณฐ์ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2 แต่การสร้างหัวโขนมาเจริญถึงขีดสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งถือเป็นยุคทองของวงวรรณกรรมและนาฏศิลป์ไทย
หัวโขนนับเป็นงานศิลปะขั้นสูงที่รวมเอาผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในเชิงช่างหลายสาขาเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ ช่างหุ่น ช่างปั้น ช่างแกะสลัก ช่างกลึง ช่างรัก และช่างเขียน แต่ในทางปฏิบัติกว่าจะได้มาซึ่งหัวโขนที่ถูกต้องและสวยงามนั้นต้องอาศัยเทคนิคและองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย
ปัจจุบันหัวโขนมิได้เป็นเพียงส่วนประกอบสำคัญในการแสดงโขนเท่านั้น หากแต่หัวโขนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทยไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากหัวโขนได้ถูกย่อส่วนลงเพื่อจัดแสดง ประดับประดาในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ตามโรงแรม ห้องนิทรรศการ ห้องแสดงสินค้าหัตถกรรมไทย เป็นต้น เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศให้มีเสน่ห์อย่างล้ำลึก และมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น นอกจากนี้หัวโขนยังได้กลายเป็นของสะสมสำหรับผู้มีรสนิยมทางศิลปะอันละเมียดละไมอีกด้วย
การทำหัวโขนของ ม.ล. พันธ์สวัสดิ์ ศุขสวัสดิ ได้รับการถ่ายทอดมาจาก ม.ร.ว. จรูญสวัสดิ์ ผู้เป็นบิดา  ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการทำหัวโขนจึงเริ่มจากความสนใจในงานศิลปะและวิชาช่างของ ม.ร.ว. จรูญสวัสดิ์ ซึ่งเริ่มหัดเขียนภาพไทยจนสามารถขายได้ตั้งแต่อายุ 13 ปี นอกจากนี้ท่านยังแกะสลักตัวหนังตะลุงได้อีกด้วย เมื่อไปเที่ยวงานภูเขาทอง ท่านได้ซื้อหัวยักษ์กำมะลอนำมาฝึกหัดปั้นหุ่น หลังจากชมการแสดงโขนในงานวัดแล้วมีความสนใจมากจึงเข้าไปหลังโรงขอดูหัวโขนที่ใช้ในการแสดง ทำให้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะพยายามทำหน้าโขน เมื่อครูปุ่น เวชาคม ซึ่งเคยเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 6 มาชวนให้หัดเล่นโขน จึงตกลงเพราะตรงกับที่เคยตั้งใจไว้ ในที่สุดก็ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ซ่อมแซมหน้าโขนที่ชำรุด หลังจากกลับจากการแสดงแล้วจึงศึกษาวิธีทำหน้าโขน และเมื่อมีโอกาสจะหัดทำเองที่บ้านด้วยการจดจำของเดิมเป็นหลัก เมื่อพอใช้ได้จะนำไปให้คณะโขนใช้ โดยขอรับทุนที่จ่ายไปมาเป็นทุนทำต่อไปจนสามารถประกอบเป็นอาชีพ (ประมาณปี 2486) จากนั้นเป็นต้นมา เมื่อปี 2513 ม.ล. พันธ์สวัสดิ์ จึงได้ช่วยงานเป็นลูกมือของบิดาตามแต่ท่านจะใช้   โดยเฉพาะการตีลายกระจังซึ่งทำจากรัก และการเคี่ยวรัก การทำหัวโขนที่นี่จึงจัดเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน   จนมาถึงปี 2536 ม.ร.ว. จรูญสวัสดิ์ ได้ล้มป่วยลง ดังนั้น ม.ล. พันธ์สวัสดิ์ จึงรับหน้าที่การทำหัวโขนแทนบิดา และเมื่อบิดาถึงแก่กรรมในปี 2538 ม.ล. พันธ์สวัสดิ์ จึงรับช่วงการทำหัวโขนต่อจาก ม.ร.ว. จรูญสวัสดิ์  ในปี 2543 ม.ล. พันธ์สวัสดิ์ ยังได้ถ่ายทอดความรู้ในการทำหัวโขนแบบดั้งเดิมให้แก่คนรุ่นใหม่ โดยเป็นอาจารย์พิเศษสอนงานช่างหุ่นหัวโขนให้แก่นักเรียนจำนวน 10 คนจากโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) ซึ่งย้ายมาเรียนถึงที่บ้าน เป็นระยะเวลาถึง 8 เดือน และเมื่อนักเรียนเหล่านี้สำเร็จการศึกษา ม.ล. พันธ์สวัสดิ์ จึงรับนักเรียนบางส่วนเข้าทำงานด้วย   จนในปี 2546 เมื่อหัวโขนของ ม.ล. พันธ์สวัสดิ์ ได้รับเลือกให้เป็นของที่ระลึกสำหรับผู้นำในการประชุมเอเปก ซีอีโอ 2003 จึงมีลูกค้ามาสั่งทำหัวโขนมากขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นในปี 2547 เป็นต้นมาจึงต้องเพิ่มแรงงานจากเดิม 5 คน เป็น 8 คน เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของลูกค้า
กระบวนการขั้นตอนการผลิต
การทำหัวโขนนับได้ว่าเป็นศิลปะที่ต้องใช้ฝีมือการทำจากศิลปะหลายแขนงมารวมเป็นจุดเดียวกัน สิ่งแรกที่ควรระลึกถึงนั่นคือความตั้งใจจริงในการทำงานเมื่อตั้งใจแล้วจะต้องศึกษาหาประสบการณ์จากด้านต่าง ๆ อันจะเป็นส่วนประกอบในการสร้างผลงานให้ได้ส่วนสัดและแบบแผนที่ถูกต้องสมบูรณ์ การทำหัวโขนมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1)  การปั้นหุ่น
หุ่นในที่นี้ หมายถึง รูปแบบ หรือลักษณะของหัวโขน ได้แก่ หุ่นพระ-นาง หุ่นยักษ์โล้น หุ่นยักษ์ยอด หุ่นลิงโล้น หุ่นลิงยอด และหุ่นพิเศษ
ในการปั้นหุ่นขั้นแรกจะต้องเตรียมดินก่อน เพราะการปั้นดินง่ายกว่าการทำหุ่นปูนปลาสเตอร์ ดินที่ใช้ปั้นเป็นดินเหนียวต้องนวดดินเหนียวให้ได้ที่แล้วนำมาวางบนแป้นกระดาน ปั้นเป็นรูปหุ่นแบบต่าง ๆ ตามต้องการ ทั้งนี้ต้องเข้าใจลวดลายและลักษณะหน้าตาของหัวโขนที่ทำเพื่อสร้างหุ่นให้ได้แบบเป็นกลางและสามารถนำไปประยุกต์เป็นแบบต่าง ๆ ได้ในโอกาสต่อไป เมื่อปั้นดินเป็นหุ่นเรียบร้อยแล้วจึงกลับหุ่นดินเป็นหุ่นปูนปลาสเตอร์เพื่อจะได้เป็นหุ่นที่ถาวร การกลับหุ่นนี้อาศัยหลักการทำหุ่นปูนปลาสเตอร์นั่นเอง
2)  การพอกหุ่น และผ่าหุ่น
เมื่อปั้นหุ่นได้เรียบร้อยตามความต้องการแล้ว เอาแป้งเปียกละเลงบนกระดาษสา (แต่เดิมนั้นใช้กระดาษข่อยแต่ในปัจจุบันไม่สามารถหากระดาษข่อยได้แล้วจึงใช้กระดาษสาแทน) ซึ่งฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปิดลงให้รอบหุ่น การปิดกระดาษจะกำหนดกี่ชั้นก็ได้ให้หนาพอสมควรที่หุ่นจะทรงตัวอยู่ได้ โดยจะต้องปิดกระดาษเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นเท่า ๆ กัน เมื่อเรียบร้อยแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้งซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 วัน เมื่อหุ่นแห้งแล้วนำมากวด หรือรีดเพื่อให้เรียบ แล้วใช้มีดผ่าด้านหลังของหุ่นทั้งนี้เพื่อให้หุ่นออกมาในรูปที่เรียบร้อย เมื่อเอากระดาษออกมาจากหุ่นแล้วใช้ลวดขนาดเล็กเย็บส่วนที่ผ่าเป็นระยะ ปิดกระดาษทับรอยลวดซึ่งเกิดจากการเย็บให้เรียบร้อยทั้งด้านในและด้านนอก ถึงขั้นนี้จะได้หุ่นกระดาษซึ่งเรียกกันว่า กะโหลก  ใช้มีดคม ๆ เฉือน ตกแต่งกะโหลกให้เรียบร้อย   ปิดกระดาษทับอีกครั้งหนึ่งจะได้หุ่นกระดาษที่สมบูรณ์พร้อมที่จะปั้นหน้าต่าง ๆ ได้
3)  การแต่งหน้าหุ่น ติดลวดลาย และทำเครื่องประกอบ
หุ่นกระดาษที่ได้ออกมาแล้วจำเป็นจะต้องตกแต่งให้สัดส่วนต่าง ๆ บนใบหน้านูนเด่นขึ้น โดยใช้รักปั้นทับตามรูปหน้า คิ้ว ตา ริมฝีปาก จมูก ไพรปาก แล้วปิดกระดาษสาทับ  ส่วนใดที่ไม่เรียบใช้มีดตกแต่งและขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบร้อย จะได้หุ่นที่คมชัดเพื่อทำการติดลวดลาย
ลวดลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่ทำให้หน้าโขนนั้น ๆ มองดูมีชีวิตชีวา การติดลวดลายเริ่มจากการใช้รักกระแหนะลายออกจากพิมพ์หินสบู่ที่แกะไว้จนได้เป็นลายเส้นและลายกระจัง นำลายรักมาติดบนกะโหลกให้ครบ ซึ่งต้องใช้รักเทือก (ยางรักผสมกับน้ำมันยาง ก่อนใช้จะต้องนำมาให้ความร้อนเพื่อทำให้รักเทือกอ่อนตัว) เป็นตัวเชื่อมให้ลายเหล่านั้นติดแน่นอยู่กับกะโหลก การวางลวดลายจำเป็นต้องศึกษาลักษณะของหัวโขนในแต่ละแบบซึ่งไม่เหมือนกันและเป็นไปตามแบบแผนโบราณซึ่งอาจดูได้จากภาพรามเกียรติ์ หรือภาพลายเส้นลวดลายหน้าเกี่ยวกับหัวโขน
รักที่ใช้ทำลายนี้เตรียมได้จากขั้นตอนที่พิเศษมาก ทำโดยนำยางรักมาเคี่ยวกับถ่านใบตองแห้ง หรืออาจใช้ถ่านกะลา ถ่านใบตาล หรือถ่านใบจากก็ได้ การเลือกใช้ถ่านนี้ควรเลือกใช้ถ่านที่มีน้ำหนักเบา และการเผาถ่านต้องเผาให้เป็นถ่านดำจริง ๆ ไม่มีเถ้าขาว เมื่อเคี่ยวรักจนได้ที่ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ หรือบางครั้งอาจนานเป็นเดือน แล้วนำมาจับเป็นก้อนเพื่อให้สะดวกในการใช้งาน การกระแหนะลายรักเริ่มต้นจากการนำรักมาปิ้งไฟให้อ่อนตัว ทุบและกลึงเป็นท่อน แล้วจึงนำรักมาคลึงลงบนพิมพ์กระแหนะซึ่งแกะจากหินสบู่ เมื่อแกะออกมาจะได้ลวดลายตามที่ต้องการ การกระแหนะลายรักเป็นงานที่ประณีตมากเพราะจะต้องแกะส่วนเล็กส่วนน้อยทีละส่วน จึงนำมาประกอบเข้าเป็นวัตถุเดียวกันภายหลัง
สำหรับหน้าโขนที่มีมงกุฎจะต้องเตรียมส่วนยอดไว้ด้วย ยอดของมงกุฎมีหลายชนิด เช่น ยอดชัย ยอดเดินหน ยอดหางไก่ ยอดน้ำเต้า เป็นต้น  ยอดเหล่านี้เองเป็นลักษณะเฉพาะตัวของหัวโขน เช่น วิรุญจำบัง เป็นหน้ายักษ์ที่มีมงกุฎยอดหางไก่ หรือแม้แต่หัวโขนหน้าเดียวกันยังอาจใช้ยอดแตกต่างกันไปตามโอกาส เช่น พระรามเมื่ออยู่ในเมืองจะใช้ยอดชัย แต่เมื่อเดินป่าหรือออกนอกเมืองจะใช้ยอดเดินหน   ดังนั้นช่างที่ทำหัวโขนจึงจำเป็นจะต้องมีความรู้ในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ทำหัวโขนออกมาได้อย่างถูกต้อง   ยอดของมงกุฎนี้อาจทำจากกระดาษสาหรือกลึงจากไม้ก็ได้ ต่อจากนั้นจึงติดลายรักลงไปบนยอด
การแกะพิมพ์หินหรือพิมพ์กระแหนะเป็นงานที่ต้องอาศัยความสามารถในการสลักเป็นอย่างมากเพราะต้องใช้สิ่วเล็กๆ ค่อย ๆ สกัดหินออกให้เป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น การทำกะบัง การทำมงกุฎพระ มงกุฎนาง ชฎาพระ ชฎานาง และอื่นๆ ความยากในการทำหัวโขนอยู่ที่การแกะพิมพ์นี่เองเพราะการทำพิมพ์นี้ขึ้นอยู่กับวิธีการและฝีมือของช่างแต่ละคน ซึ่งไม่อาจถ่ายทอดกันได้และพิมพ์เช่นนี้ก็ไม่มีขาย  จึงมีหัวโขนที่เป็นประณีตศิลป์ปรากฏออกมาไม่มากนัก
เครื่องประกอบที่กล่าวถึงนี้เป็นส่วนของหน้าโขนที่ไม่อาจใช้กระดาษสาหรือรักทำได้ เช่น จอนหู ซึ่งต้องใช้หนังวัวเป็นพื้นเพราะมีความแข็งแรง สามารถดัดให้โค้งงอตามความต้องการได้และ   ข้อสำคัญหนังวัวที่นำมาทำจอนหูจะต้องฉลุสลักลวดลายให้งดงามตามแบบศิลปะของการแกะสลัก แต่ก่อนที่จะสลักจะต้องเขียนแบบลงบนกระดาษแล้วปิดกระดาษลงไปบนหนังวัว ต่อจากนั้นจึงลงมือสลักแผ่นหนังวัวตามลวดลายในกระดาษ เสร็จแล้วจึงผนึกหนังที่ฉลุลายให้แข็งแรงโดยใช้ลวดเป็นแกน ขั้นต่อมาคือการนำแผ่นหนังที่ฉลุเป็นรูปจอนหูไปประกอบกับหุ่นกระดาษซึ่งติดลวดลายไว้พร้อมแล้ว หลังจากนั้นจึงติดลายรักลงบนจอนหูให้เรียบร้อย
นอกจากนี้ยังต้องติดเครื่องประกอบอื่น ๆ ให้แก่หัวโขน คือ ตา ฟัน เขี้ยว และงา ซึ่งทำจากหอยมุกโข่งไฟ  เครื่องประกอบเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของหัวโขน เช่น ทศกัณฐ์ต้องมีตาโพลง และเขี้ยวโง้ง หรือหน้าพระพิฆเนศวร์จะต้องมีงา 2 ข้าง โดยที่งาข้างซ้ายจะต้องหัก (ตามบทพากย์โขนในตอน พระพิฆเนศวร์เสียงา)
4)  การปิดทองและติดพลอย
การปิดทองคำเปลวจะปิดลงบนหัวโขนตรงส่วนที่เป็นลายรัก หรืออาจปิดบริเวณหน้าของหัวโขนในกรณีที่หัวโขนมีหน้าสีทอง เพื่อให้หัวโขนมีความสวยงามและความสุกปลั่งของทองคำเปลว
การติดพลอยจะประดับเฉพาะมงกุฎ หรือกรอบพักตร์ จอนหู และลายท้าย (อยู่ตรงท้ายทอยของหัวโขน) เท่านั้น มิให้ติดส่วนอื่นของหัวโขนที่มิได้เป็นเครื่องประดับเลย แต่เดิมนั้นการประดับหัวโขนจะใช้กระจกเกรียบแต่เนื่องจากปัจจุบันกระจกเกรียบเป็นของหายาก ช่างทำหัวโขนส่วนใหญ่จึงหันมาใช้พลอยแทนกระจกเกรียบ ทั้งนี้เพราะส่วนประกอบต่าง ๆ ต้องผันแปรไปตามสภาพโดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ความคงทนของวัสดุและความงดงามของศิลปะเป็นสำคัญ
5)  การลงสี การเขียนลวดลายลายลงบนหัวโขน
การลงสีหน้าโขนนั้นเป็นขั้นตอนที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาสีต่าง ๆ ในพงศ์รามเกียรติ์ให้ถ้วนถี่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะสีของหน้าโขนแต่ละหน้าไม่เหมือนกัน เช่น พระรามมีหน้าสีเขียวนวล แต่พระลักษณ์จะมีหน้าสีทอง  แม้สีเดียวกันยังมีโทนสีที่แตกต่างกันสำหรับหัวโขนที่แตกต่างกัน เช่น พระปรคนธรรพใช้สีเขียวใบแค ส่วนพระรามใช้สีเขียวนวล ดังนั้นการผสมสีให้ถูกส่วนและสีถูกต้องตามพงศ์นั้นเป็นสิ่งที่ควรคำนึงอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง
ลักษณะการเขียนลวดลายไทยเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดในการทำหัวโขนออกมาในรูปของความประณีตละเอียดอ่อนได้ ฉะนั้นช่างทำหัวโขนจึงต้องศึกษาลวดลายเพื่อฝึกฝนให้ชำนาญโดยเฉพาะ “ลายฮ่อ” จะปรากฏมีอยู่ทุกหน้าของหัวโขน นอกจากนี้แล้วลายไทยในการวาดภาพประเภทลายเส้นมีส่วนทำให้การเขียนดีขึ้น การฝึกฝนฝีมือให้ชำนาญย่อมทำให้การเขียนลวดลายงดงาม  หลังจากลงสีหัวโขนเรียบร้อยแล้วจึงเขียนลวดลายต่าง ๆ เช่น เส้นคิ้ว ตา ปาก ไพรปาก เส้นฮ่อ ลงบนหน้าโขน การเขียนลวดลายแต่ละหน้าต้องตกแต่งอย่างละเอียดตามลักษณะของหน้าโขนชนิดนั้น ๆ ความประณีตของลวดลายมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะส่วนนี้เองทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกว่างานนั้นงดงาม หรือ ประณีตเพียงไร
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย,มีให้เลือกหลายแบบและหลายขนาดตามความต้องการของลูกค้า,มีความปราณีต สวยงาม และมีคุณภาพ,เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายการค้า,มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความแข็งแรง และมีหลายแบบมากขึ้น
ปริมาณการผลิต
ขนาดจิ๋ว- 40 หัว/เดือน ,เล็ก 40 หัว/เดือน,ใหญ่ 10 หัว/เดือน
ราคา
ตามขนาดและรูปแบบ ตั้งแต่ 4,000-50,000บาท
สถานที่จำหน่าย
- 5/1 ถ.อู่ทอง ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 0-3524-1574,0-6510-2195
สนใจสั่งซื้อ หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
5/1 หมู่ 1 ถ.อู่ทอง ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 0-3524-1574,0-6510-2195